ปัจจุบันเราได้เรียนรู้เรื่องการที่ให้เงินทำงานแล้วเลือกที่จะลงทุนในตลาดหุ้น ไม่ว่าจะเป็นในประเทศหรือต่างประเทศหลายคนก็คุ้นหูกันดีเกี่ยวกับการลงทุนแบบ VI ซึ่งย่อมาจาก Value Investor หรือแปลตรงๆ คือนักลงทุนเน้นคุณค่า
นักลงทุนสาย VI คือ นักลงทุนที่สนใจเลือกการลงทุนในคุ้นคุณค่า (Value Stock) มักเป็นคนที่มองภาพในระยะกลางถึงยาว มีการวิเคราะห์การเติบโตของบริษัท รวมถึงมีความอดทนต่อการเปลี่ยนแปลงของราคาที่ผันผวนในระยะสั้น โดยนักลงทุนสาย VI เขาจะตัดสินใจซื้อหุ้นเพื่อราคาปัจจุบันต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง และ ตัดสินใจขายหุ้นเมื่อราคาปัจจุบันสูงกว่ามูลค่าที่แท้จริง โดย มูลค่าที่แท้จริง สามารถคำนวนได้จากการคิดคาดการณ์กระแสเงินสดในอนาคตให้อยู่ในรูปแบบของมูลค่าในปัจจุบัน (DCF)
เรื่องที่ยากของการหามูลค่าที่แท้จริงคือการประเมินผลกำไรและกระแสเงินสดในอนาคตให้แม่นยำ เพราะมูลค่าของบริษัทในวันนี้ไม่ได้มีแค่สินทรัพย์หรือกระแสเงินสดในปัจจุบันซึ่งประเมินไม่ยากแต่ยังรวมไปถึงแผนธุรกิจและการขยายกิจการในอนาคตซึ่งมีความไม่แน่นอนสูงด้วย
VI กับการวิเคราะห์แบบ Top Down Analysis
การวิเคราะห์แบบ Top Down Analysis คือ การมองภาพกว้างที่สุดลงมาที่ภาพเล็ก โดยเริ่มพิจารณาจากเศรษฐกิจโดยรวมเป็นลำดับแรก และดูว่าปัจจัยทางเศรษฐกิจ ณ ขณะนั้น เอื้อประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมใดบ้าง (Mega Trend) เพื่อเลือกลงทุนในหุ้นที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่ได้ประโยชน์มากที่สุดในลำดับถัดไป ซึ่งการวิเคราะห์ดังกล่าวยังคงเป็นที่นิยมสำหรับนักวิเคราะห์ ผู้จัดการกองทุน และนักลงทุนสถาบันอีกด้วย
เหมาะสำหรับ : นักลงทุนที่ต้องการเห็นภาพรวมเศรษฐกิจแล้วค่อยมองหุ้นที่เราสนใจ
VI กับการ วิเคราะห์แบบ Bottom Up Analysis
การวิเคราะห์แบบ Bottom Up Analysis เป็นการมองภาพย้อนจากภาพเล็กขึ้นไปหาภาพใหญ่ โดยวิเคราะห์จากความสามารถในการทำกำไรจากภาพรวมของบริษัทไปจนถึงเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งจะมองในทิศทางตรงกันข้ามกับ Top Down Analysis แต่หลักการดูในแต่ละอุตสาหกรรมยังสามารถใช้วิธีเดียวกันได้
โดยวิธีนี้ ถือเป็นการเน้นอิงกับผลประกอบการบริษัทเป็นหลัก (Fundamental) โดยเริ่มทำการวิเคราะห์จากอัตราส่วนทางการเงิน เช่น อัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (ROE), อัตรากำไรขั้นต้นของบริษัท (Gross Profit Margin), อัตราเงินปันผล (Dividend Yield) ฯลฯ รวมถึงวิสัยทัศน์ของผู้บริหาร ความได้เปรียบในการแข่งขันในอุตสาหกรรมเดียวกัน จากนั้นจึงขยายไปมองภาพรวมอุตสาหกรรม (Industry Analysis) และภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ (Mega Trend)
เหมาะสำหรับ : นักลงทุนที่เชื่อมั่นว่ากิจการของหุ้นตัวนี้มีความมั่นคงและมีโอกาสในการเติบโต
วิเคราะห์หุ้น สำหรับนักลงทุนสาย VI
วิธีการวิเคราะห์ภาพรวมบริษัทให้ครบทุกด้านสามารถทำได้ผ่านการวิเคราะห์ อีก 2 ด้านด้วยกัน ได้แก่
- การวิเคราะห์เชิงคุณภาพ คือ การวิเคราะห์ที่แสดงออกให้เห็นแบบนามธรรม ไม่อาจวัดค่าได้ แต่สามารถมองจากข้อมูลอื่น ๆ ได้ เช่น โครงสร้างผู้ถือหุ้น ความสามารถของผู้บริหาร การเติบโตของบริษัท รวมไปถึงความน่าเชื่อถือ และภาพลักษณ์ขององค์กร เป็นต้น
- การวิเคราะห์เชิงปริมาณ คือ การวิเคราะห์ที่แสดงออกให้เห็นแบบรูปธรรม สามารถคำนวณเพื่อวัดค่าได้ เช่น การวิเคราะห์งบการเงิน ไม่ว่าจะเป็น งบแสดงฐานะการเงิน งบกำไรขาดทุน หรืองบกระแสเงินสด โดยนำมาวิเคราะห์เป็นอัตราส่วนทางการเงินร่วมกับการดูข้อมูลในอดีต นำไปสู่การคาดการณ์ผลตอบแทนในอนาคตของบริษัท
อย่างเช่นถ้านักลงทุนคิดว่าหุ้น A จะเติบโตได้ 20% ในอีก 3 ปีข้างหน้าแต่เวลาประเมินมูลค่าอาจจะประเมินโดยใช้การเติบโตแค่ 10% เพื่อให้มีโอกาสในการเกิดสูงขึ้น แน่นอนขึ้น เพราะอนาคตไม่มีความแน่นอนดังนั้นการประเมินการเติบโตที่สูงเกินไปจะทำให้มูลค่าที่แท้จริงที่คำนวณได้สูงเกินความเป็นจริงไปด้วย ส่งผลให้ลงทุนไปแล้วมีโอกาสขาดทุนสูงได้จากการลงทุนในหุ้นที่เราคิดว่ามีราคา “ตํ่ากว่ามูลค่าที่แท้จริง” แต่ในความเป็นจริงแล้วกลับมีราคา “สูงกว่ามูลค่าที่แท้จริง” เพราะการประเมินมูลค่าแบบไม่อนุรักษ์นิยมของตัวเราเอง
วอร์เรน บัฟเฟตต์ เคยกล่าวไว้ว่า “นกหนึ่งตัวในมือเทียบเท่ากับนกสองตัวในพุ่มไม้” การลงทุนต้องชั่งนํ้าหนักระหว่างความเสี่ยงและผลตอบแทนที่ได้เสมอ บางครั้งการลงทุนที่เสี่ยงตํ่าที่ได้ผลตอบแทนน้อยกว่ากลับน่าสนใจกว่าการลงทุนที่ได้ผลตอบแทนมากกว่าแต่มีความเสี่ยงสูง
นอกจากการประเมินมูลค่าให้เป็นแล้วนักลงทุนเน้นคุณค่ายังต้องปฏิบัติตามหลักเกณท์ของตัวเองอย่างเคร่งครัด เพราะจะไม่มีประโยชน์เลยหากนักลงทุนมีหลักการการลงทุนที่ถูกต้องแต่กลับไม่เคยปฏิบัติตามการจะเป็นนักลงทุนเน้นคุณค่าหรือ VI ให้ประสบความสำเร็จนั้นจึงต้องมีทั้งศาสตร์และศิลป์ซึ่งก็คือความรู้ในการประเมินมูลค่าหุ้น,หลักการที่ชัดเจนและสติในการยับยั้งชั่งใจไม่ให้ความโลภเข้าครอบงำจนละเลยหลักการลงทุนของตัวเอง