ตะกาฟุล เป็นคำที่มาจากภาษาอาหรับ หมายความถึง การประกันซึ่งกันและกัน ในรูปแบบของการประกันสมาชิกจะจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนซึ่งสมาชิกของกองทุนสมัครใจที่จะแบ่งปันความเสี่ยงซึ่งกันและกัน ในกรณีที่สมาชิกประสบกับความสูญเสีย ก็สามารถรับค่าชดเชยจากกองทุนนี้ได้
เมืองไทยตะกาฟุล มีการบริหารจัดการเงินสมทบของสมาชิกอย่างไร ?
รูปแบบการบริหารจัดการตามหลักตะกาฟุลเป็นอย่างไร ?
การจัดการตะกาฟุลโดยทั่วไปมี 3 รูปแบบด้วยกันคือ
- Mudarabah คือ ผู้ประกอบการรับค่าตอบแทนจากการลงทุน
- Wakalah คือ ผู้ประกอบการรับค่าบริหารจัดการ
- Mixed Model คือ หลักการวากาละห์สำหรับการพิจารณารับประกัน และใช้หลักมุฎารอบะฮ์สำหรับการบริหารการลงทุน
หลักการสำคัญ
Mudarabah
หุ้นส่วนระหว่างสองฝ่าย โดยที่ฝ่ายหนึ่งเป็นส่วนของเงินทุน (สมาชิกตะกาฟุล) และอีกฝ่ายเป็นส่วนของการดำเนินการบริหารจัดการ (ผู้ประกอบ การตะกาฟุล) หากได้กำไร ก็จะแบ่งให้กับหุ้นส่วนทั้งสองฝ่ายตามอัตราที่ตกลงกันไว้ หากล้มเหลวสมาชิกตะกาฟุลในฐานะผู้จัดหาเงินทุนก็ต้องแบกรั บภาระการขาดทุน และผู้ประกอบการตะกาฟุลในฐานะฝ่ายจัดการก็จะสูญเสียเพียงเวลา
Wakalah
ผู้ประกอบการ(ตะกาฟุล)ทำหน้าที่เป็นผู้เชี่ยวชาญ หือให้บริการ โดยเก็บค่าธรรมเนียม จากผู้จัดหาเงิน(สมาชิกตะกาฟุล) สำหรับการบริการนั้น ทั้งนี้ค่าธรรมเนียมสามารถกำหนดได้เป็นอัตราคงที่ หรือแปรผันก็ได้
ผลกำไรจาก การลงทุน
Mudarabah
ผู้ประกอบการตะกาฟุลได้รับส่วนแบ่งผลกำไรจากการลงทุน
Wakalah
ผู้ประกอบการตะกาฟุลไม่ได้รับการแบ่งผล กำไรจากการลงทุน
ค่าใช้จ่าย
Mudarabah
ผู้ประกอบการตะกาฟุลใช้ส่วนแบ่งผลกำไรจากการลงทุน เป็นค่าใช้จ่าย ซึ่งค่อนข้างยุ่งยากที่จะใช้ผลกำไรจากการลงทุนเป็นค่าใช้จ่าย
Wakalah
หักค่าธรรมเนียมจากเงินสมทบเป็นค่าใช้จ่าย
ตะกาฟุลเมืองไทยใช้หลักการทางศาสนาดำเนินการอย่างไร ?
ใช้หลักการศาสนาดังนี้
• “ วะกาละห์ บิ้ล อัจริ ” คือหลักการมอบอำนาจให้ตัวแทนไปดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง พร้อมจ่ายค่าจ้าง
• “ ตะบัรรุอ์ ” คือหลักการบริจาค
• “ ฮิบะห์ ” คือหลักการยกให้
ในทางปฏิบัติตามหลักการศาสนาจะทำอย่างไร ?
สมาชิกตะกาฟุลมอบอำนาจให้กองทุนตะกาฟุล โดยบริษัทเมืองไทยประกันชีวิต ไปบริหารจัดการกองทุนตะกาฟุล ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ในการให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน พร้อมจ่ายเงินค่าจ้างบริหารจัดการตามที่กำหนด โดยหักจากเงินสมทบตะกาฟุล จากบัญชีสมาชิก
สมาชิกตะกาฟุลบริจาค(ตะบัรรุอ์)เงินสมทบตะกาฟุล ให้แก่กองทุนตะกาฟุล เมื่อเกิดความเดือดร้อน ประสบภัย หรือเสียชีวิต หรือครบสัญญาตะกาฟุล กองทุนตะกาฟุลจะมอบเงิน(ฮิบะห์) อย่างน้อยเท่ากับจำนวนเงินหลักประกันตะกาฟุล และเงินปันผลพิเศษถ้ามี ให้แก่สมาชิกตะกาฟุลหรือผู้รับประโยชน์แล้วแต่กรณี
เงินสมทบตะกาฟุลที่สมาชิกบริจาค(ตะบัรรุอ์)เข้ากองทุนตะกาฟุลนั้นนำไปใช้ทำอะไร ?
เงินสมทบตะกาฟุล ที่สมาชิกบริจาค(ตะบัรรุอ์) เข้ากองทุนตะกาฟุลนั้นจะนำไปจัดสรรดังนี้
• บัญชีสมาชิก หมายถึงเงินสมทบตะกาฟุลที่ได้บริจาคไว้ ซึ่งเงินสะสมทรัพย์นี้ หลังหักค่าใช้จ่ายแล้ว จะนำไปลงทุนตามหลักศาสนา โดยจะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุน
• บัญชีพิเศษสมาชิก หมายถึงเงินสมทบตะกาฟุล ส่วนที่เป็นเงินบริจาค ของสมาชิกตะกาฟุล โดยสะสมเป็นกองทุนกลาง เพื่อสำรองเป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการมอบหลัก ประกันเป็นฮิบะห์ให้แก่สมาชิกตะกาฟุล ที่เข้าร่วมในหลักการตะกาฟุล ทั้งหมด เงินสมทบตะกาฟุลตามบัญชีนี้ จะนำไปฝากไว้กับธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย
เงินสมทบตะกาฟุลในบัญชีสมาชิกจะนำไปลงทุนอย่างไร ?
จะนำไปลงทุนตามช่องทางที่ศาสนาอิสลามอนุมัติ ภายใต้การควบคุมของ คณะกรรมการตะกาฟุล ที่จะทำการพิจารณา และอนุมัติในแต่ละช่องทางการลงทุน
กองทุนตะกาฟุลโดยบริษัทเมืองไทยประกันชีวิต จะทำตะกาฟุล(Retakaful) ต่อหรือไม่ ?
โดยหลักของตะกาฟุล จะต้องมีการกระจายความร่วมมือ ไปยังกองทุนตะกาฟุลอื่นๆ ด้วย เพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และเพื่อทำให้การตะกาฟุล สามารถดำเนินการไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่การทำตะกาฟุลต่อ (Retakaful) จะต้องทำกับกองทุนตะกาฟุล ที่ปฏิบัติถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลามเท่านั้น