จำเป็นอย่างยิ่งที่มุสลิมจะต้องออมเงิน การออมเงิน เป็นก้าวแรกของการลงทุน และเป็นส่วนสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอิสลาม
ท่านนบีฯกล่าว :
“فَكُلُوا، وَادَّخِرُوا، وَتَصَدَّقُوا”
ความว่า : พวกเจ้าจงกิน จงเก็บออม และจงบริจาค (หะดีษศอฮีฮบุคอรี และมุสลิม)
ทั้ง 3 อย่างนี้ เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ดี และเป็นจุดเริ่มต้นของการยกระดับความเป็นอยู่ของมุสลิมในสังคมได้
รายได้ที่เราได้มาแต่ละเดือน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องแบ่งตามสัดส่วนทั้ง 3 อย่างนี้ให้ได้
1. ใช้กิน
หรือรายจ่ายส่วนตัว ค่าใช้จ่ายต่างๆก็ควรใช้อย่างเหมาะสม ไม่เยอะเกินจนฟุ่มเฟือย และไม่น้อยเกินจนต้องอดยาก
2. เก็บออม
จำเป็นอย่างยิ่งที่มุสลิมจะต้องเก็บออมเงินไว้ใช้ในอนาคต หรือใช้ยามจำเป็น และท่านนบีฯเคยแนะนำให้ศอฮาบะฮ์เก็บออมไว้สำหรับ 1 ปี
ท่านอุมัร บิน คอฏฏอบ กล่าวว่า : “ท่านนบีฯได้ขายอินธผลัมบานีนาฎีร และได้เก็บออมไว้ให้กับครอบครัวของท่านใช้สำหรับระยะเวลา 1 ปี” (หะดีษศอฮีฮบุคอรี และมุสลิม)
3. บริจาค
รายได้ของเราจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการบริจาคด้วย เพราะมันจะช่วยให้ทรัพย์สินเราเพิ่มพูนขึ้นมาอีก ไม่ว่าจะเป็นนัฟเกาะฮ์ให้กับภรรยา ลูกๆ พ่อแม่ หรือจะเป็นการซะกาต หรือให้คนยากคนจน หรือบริจาคให้กิจการศาสนา เราจำเป็นต้องมีส่วนนี้ไว้ในส่วนแบ่งรายได้ของเรา
ทั้ง 3 อย่างนี้ อัลลอฮ์ได้ตรัสในอัลกุรอาน ว่า :
﴿كُلُوا مِنْ ثَمَرِهِ إِذَا أَثْمَرَ وَآتُوا حَقَّهُ يَوْمَ حَصَادِهِ وَلَا تُسْرِفُوا إِنَّهُ لَا يُحِبُّ الْمُسْرِفِينَ﴾ [الأنعام: 141].
ความว่า : จงบริโภคจากผลของมันเถิดเมื่อออกผล และจงจ่ายส่วนอันเป็นสิทธิในมันด้วย ในวันแห่งการเก็บเกี่ยวมัน และจงอย่าฟุ่มเฟือยทั้งหลาย
ในอายัตนี้พระองค์พูดถึงทั้ง 3 ประการ
- จงบริโภคจากผลของมัน คือการใช้จ่ายส่วนตัว
- จงจ่ายส่วนอันเป็นสิทธิในมันด้วย คือการบริจาค
- จงอย่าฟุ่มเฟือย คือให้เก็บออม
สรุป
#จะเห็นได้ว่า อิสลามสนับสนุนให้เราเก็บออม เพื่อเสถียรภาพชีวิตของเราในอนาคต และการเก็บออมที่ดีควรเก็บออมให้พอใช้สำหรับ 1 ปี หรืออย่างน่อยๆ ควรเก็บออมให้ได้มากกว่า 6 เดือนขึ้นไป
และเมื่อเราเก็บออมเสร็จ ขั้นต่อไป คือการลงทุน