[ad_1]
l เราไม่ชอบเรื่องอะไรที่คนอื่นทำ เราก็ไม่ควรทำเรื่องนั้น l
มันใช้ไม่ได้ทุกเรื่องกับแนวคิดที่ว่า “เราไม่ชอบเรื่องอะไรที่คนอื่นทำ เราก็ไม่ควรทำเรื่องนั้น” แต่ก็ใช้ได้หลายเรื่องอยู่เหมือนกัน
— เราไม่ชอบเวลาคนด่าเรา หรือด่าคนที่เรารัก ดังนั้น เราก็ไม่ควรไปด่าใคร หรือไม่ไปด่าคนที่คนอื่นรัก
— เราไม่ชอบคนที่เราพูดอะไรไม่ทันจบ รีบสวนหรือเปลี่ยนไปเรื่องที่เขาสนใจอย่างเดียว ดังนั้น เวลาเราคุยกับใคร อย่าคุยแต่เรื่องตัวเอง เราจะต้องหันมาใช้มารยาทการสนทนา ไม่ตอกหน้าและไม่ฉีกหน้าใคร
— เราไม่ชอบคนที่ต่อหน้าดี พูดจาไพเราะน่าฟัง แต่ลับหลังพูดแต่เรื่องไม่ดี ดังนั้น เราก็อย่าเป็นคนต่อหน้าอย่างลับหลังอย่าง ฝึกพูดจาดีๆ ทั้งต่อหน้าและลับหลัง และเมื่อไม่ชอบใครก็ไม่ต้องหาเรื่องไม่ดีของเขาไป “แขวน” ในโซเชียล
— เราไม่ชอบที่เห็นคนกินอาหารแบบแพงๆ และเหลือทิ้งเต็มโต๊ะ ดังนั้น เราก็อย่าเป็นคนกินทิ้งกินขว้าง คิดถึงและแจกจ่ายคนที่ไม่มีจะกินบ้าง
— เราไม่ชอบที่คนอื่นพูดเสียงดังในรถโดยสารหรือบนเครื่องบิน ดังนั้น เราก็ควรระวังการพูดเสียงดัง ไม่ว่าคุยกันเองหรือคุยโทรศัพท์
— เรารู้สึกว่าเป็นเรื่องน่าเกลียดมาก กับคนที่ชอบอวดชอบเปิดเผยความเคร่งอิบาดะฮฺของตัวเองในโซเซียล ดังนั้น เราก็อย่าไปโชว์ อย่าไปอวด ในเรื่องแบบนี้ และคิดไว้เสมอว่า ไม่มีอะไรที่น่าเกลียดเท่ากับการอวดว่าตนเองเคร่งในเรื่องแบบนี้
— เรารู้สึกว่ามันแปลกๆ เวลาเจอคนอวดสามีหรืออวดภรรยาตามโซเชียล ดังนั้น เราก็อย่าไปเอาความเป็นคนเก่ง หรือความเป็นคนดีของสามี(ภรรยา)มาเล่า ให้เรื่องแบบนี้มันเป็นความภูมิใจในพื้นที่ส่วนตัว
ฯลฯ
แต่นั่นแหละ มันเป็นแนวคิดที่ใช้ไม่ได้เสมอไป เพราะบางเรื่อง เราอาจไม่ชอบ(อย่างมีพี่น้องมานะศีฮัตกับเราอย่างจริงใจ) แต่มันนับเป็นเรื่องที่ดีที่ควรทำ แม้เราจะไม่ชอบก็ตาม และบางเรื่องเราอาจชอบ(อย่างมีคนมายอเราจนตัวลอย) แต่มันอาจเป็นเรื่องน่าเกลียดมาก ๆ ความคิดคนเราจึงไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ ดังนั้น จำเป็นที่ต้องอิงกับบรรทัดฐานของท่านนบีเสมอ(ชอบในสิ่งที่ท่านนบีชอบ ไม่ชอบในสิ่งที่ท่านนบีไม่ชอบ) แต่ถึงอย่างไร เรื่องที่เราไม่ชอบที่คนอื่นทำ มันก็นำมาใช้ได้ระดับดีทีเดียว ตราบที่ความคิดเราถูกปรับให้เข้ากับบรรทัดฐานของท่านนบีได้อย่างใกล้เคึยง
|อัล อัค|
_________________
* หนึ่งในบทเรียนจากชีวิตในรอมฎอน
[ad_2]
Source (แหล่งอ้างอิง)