[ad_1]
l ยกระดับการถือศีลอด สู่การอดวาจา l
เป็นที่รู้กันดีว่า การถือศีลอดหรือศิยาม(ที่แปลว่า งด, ระงับ) มันมากกว่าการอดข้าวอดน้ำ แต่มัน “อด” ไปถึงวาจา หลายหะดีษที่ท่านนบีชี้ไปถึงการให้อด(ศิยาม)ต่อการแสดงออกทางวาจาบางชนิด เช่น
• วาจาที่เป็นเท็จ (เกาลุล ซูร)
• วาจาไร้สาระ เอาสนุกอย่างเดียว (ละฮวฺ)
• วาจาหยาบคายหยาบโลน (เราะฟัษ)
• วาจาด่าทอเหยียดหยาม (สับบฺ)
• วาจาที่กล่าวมาอย่างโง่เขลา(ญะฮลฺ) พูดแบบไม่มีความรู้ พูดเรื่อยเปื่อยเดาไปเรื่อย
ท่านนบีระบุถึงวาจาแบบต่างๆ ในหะดีษหลายต้น เป็นการเรียกร้องให้ “อด” สิ่งเหล่านี้ แม้ไม่ถึงขั้นออกจากศิยาม(เสียบวช) แต่ทำให้ไม่ได้รับผลบุญ
แต่ที่การอดวาจามันแตกต่างกับอดข้าวอดน้ำนั้น คือข้าวปลาอาหารนั้น มันสามารถกินดื่มได้ หลังจากตะวันตกดิน ถ้าหากเป็นสิ่งที่หะลาล แต่วาจาเหล่านั้นจะต้อง “อด” มันตลอดไป เพราะมันล้วนเป็นบาปใหญ่ที่นำไปสู่การลงโทษในอาคิเราะฮฺได้ทั้งนั้น ตรงนี้ต่างหากที่เป็นหนึ่งในเจตนารมณ์ที่ยิ่งใหญ่ของการศิยาม(การถือศีลอด) เพราะมนุษย์แทบจะทั้งนั้นมักจะอดเรื่องวาจาแบบนี้(ในแบบใดแบบหนึ่ง)ไม่ค่อยได้
นี่เป็นอัตลักษณ์ยิ่งใหญ่ของศาสนาที่หล่อหลอมคนด้วย “อีหม่าน”(ศรัทธา) ซึ่งอีหม่านนั้นไม่ได้ตั้งอยู่ลอยๆ นิ่งในใจ มันจะต้องเคลื่อนไปสู่การสร้างความดีงามทั้งในจิตใจ ถ้อยคำวาจา และการกระทำต่างๆ
“วาจา” ที่คนอาจเห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดา แต่มันเป็นสิ่งหนึ่งที่ท่านนบีบอกว่า “เป็นเหตุที่ทำให้คนเข้าสู่นรกมากที่สุด” ถ้อยคำวาจาจึงสำคัญมาก วาจาบางอย่างพาเข้าสวรรค์ได้เลย(อย่างเช่นการกล่าวถ้อยคำซิกรทั้งหลาย) และคำพูดบางอย่างก็พาไปนรกก็เป็นได้ ดังเช่นที่ท่านนบีบอกว่า คนที่พูดจายุแหย่จะไม่ได้เข้าสวรรค์ เป็นต้น [ มาถึงยุคนี้คงต้องเพิ่มคำศัพท์ร่วมสมัยอย่างการบูลลี่ การแซะ อะไรทำนองนี้ลงไปด้วย เพราะมันยังอยู่ในนิยามคำพูดที่เลวร้ายในแบบใดแบบหนึ่งอยู่ดี ]
การรักษาวาจาให้อยู่ในสิ่งที่ดีงาม หรือไม่ก็นิ่งเสีย เป็นหนึ่งในการวางอัคลากหรือบุคลิกลักษณะของมุสลิมในยุคแรก มาถึงวันนี้มันไม่ได้หมายความแค่วงสนทนาที่ร้านน้ำชาหรือในตลาดเท่านั้น แต่มันหมายถึงการแสดงออกมาไม่ว่าการพิมพ์หรือเป็นคลิปที่ปรากฎในโลกโซเชียลด้วยเช่นกัน เรื่องนี้เป็นปัญหาหนักของมวลมนุษยชาติอย่างแท้จริง
ศิยาม(การถือศีลอด)จึงตอกย้ำว่า คนถือศีลอดไม่ใช่อดข้าวอดน้ำเท่านั้น แต่จะต้อง “อด” วาจาที่ไม่ดีหรือที่ไร้สาระทั้งหมด ถ้าไม่ทำเช่นนั้น มันจะได้แค่ความหิวเท่านั้นเอง
lอัล อัคl
[ad_2]
Source (แหล่งอ้างอิง)