๑. เจ้าพระยา เฉกอะหมัด รัตนราชเศรษฐี (เฉกอะหมัด)
“เจ้าพระยาวรราชนายก (เฉกหะหมัด) ปฐมจุฬาราชมนตรี” ท่านเฉกอะหมัด เกิดเมื่อ พ.ศ.๒๐๘๖ ณ เมืองกุม ประเทศอิหร่านนับถือศาสนาอิสลามนิกายชีอะห์ เมื่อ พ.ศ.๒๑๔๓ เมื่อพระบาทสมเด็จพระนารายณ์มหาราช รัชกาลที่ ๒๐ แห่งกรุงเทพวารวดีศรีอยุธยา เสด็จขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติเป็นปีที่ ๑๑ ท่านเฉกอหะหมัดกับน้องชายชื่อเฉกหะหมัดสะอี๊ด ได้เดินทางเข้ามาทำการค้าขายที่ตำบลท่ากายีใกล้กรุงศรีอยุธยา การค้าขายได้เจริญรุ่งเรืองขึ้นโดยลำดับ จนสองพี่น้องคู่นี้ได้ชื่อว่าเป็นเศรษฐีใหญ่ในกรุงศรีอยุธยาทีเดียว
ปลายแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ท่านเฉกอะหมัดได้ช่วยปรับปรุงราชการกรมท่า จนได้ผลดี จึงโปรดเกล้าฯให้เป็น “พระยาเฉกอะหมัดรัตนราชเศรษฐี” เจ้ากรมท่าขวาและ จุฬาราชมนตรี นับได้ว่าท่านเป็นปฐมจุฬาราชมนตรีและเป็นผู้นำพาศาสนาอิสลามนิกายชีอะหฺ มาสู่ประเทศไทย ต่อมาท่านเฉกอะหมัดพร้อมด้วยมิตรสหาย ร่วมใจกันปราบปรามชาวต่างชาติกลุ่มหนึ่ง ที่ก่อการจลาจล และจะยึดพระบรมมหาราชวัง จึงโปรดเกล้าฯ ให้เป็น เจ้าพระยาเฉกอะหมัด รัตนาธิบดี สมุหนายกอัครมหาเสนาบดีฝ่ายเหนือ
ในปลายแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าปราสาททองโปรดเกล้า ฯ ให้ท่านเฉกอะหมัดซึ่งมีอายุ ๘๗ ปี เป็น เจ้าพระยาบวรราชนายก จางวางกรมมหาดไทย ท่านได้ถึงแก่อสัญกรรม เมื่อ พ.ศ. ๒๑๗๔ รวมอายุ ๘๘ ปี ท่านเฉกอะหมัดนี้ท่านเป็นต้นสกุลของไทยมุสลิมหลายนามสกุลและสกุลบุนนาค เป็นต้นสกุลของเจ้าพระยาหลายท่านในระยะเวลาต่อมา
เจ้าพระยา เฉกอะหมัด รัตนราชเศรษฐี
๒. พระยาจุฬาราชมนตรี (แก้ว)
พระยาจุฬาราชมนตรีท่านที่ ๒ คือพระยาจุฬาราชมนตรี (แก้ว) ในสมัยแผ่นดินพระนารายณ์มหาราช เป็นบุตรของท่านอากามะหะหมัด บุตรท่าน มหะหมัดสะอี๊ดและมีศักดิ์เป็นหลานของท่านเฉกอะหมัดเพราะมารดาของท่านคือท่านชี ธิดาของท่านเฉกอะหมัดนั่นเอง
พระยาจุฬาราชมนตรี (แก้ว) นับเป็นหัวหน้ามุสลิมในสมัยกรุงศรีอยุธยาคนที่ ๒ ต่อจากท่านจุฬาราชมนตรีพระยาจุฬาราชมนตรี เฉค อะหมัด
นายแก้วซึ่งเคยถวายตัวเป็นมหาดเล็กในแผ่นดินพระนารายณ์มหาราชจนกระทั่งต่อมาได้รับการเลื่อนยศเป็น หลวงศรียศ (แก้ว) และต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้เป็นพระยาจุฬาราชมนตรีเจ้ากรมท่าขวา
หลวงศรียศ (แก้ว) หรือพระยาจุฬาราชมนตรี ท่านผู้นี้ได้ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีในสมัยพระนารายณ์มหาราช และดำรงตำแหน่งต่อมายังในสมัยของพระเพทราชา นับเป็นจุฬาราชมนตรีผู้นำมุสลิมไทย ลำดับที่ ๒ ในสายสกุลของ ท่านเฉค อะหมัด โดยท่านไม่มีบุตรธิดาสืบสกุลเลย
๓. พระยาจุฬาราชมนตรี (สน)
พระยาจุฬาราชมนตรี (สน) ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีในสมัยพระเจ้าบรมโกศ เป็นบุตรของเจ้าพระยาศรีไสยหาญณรงค์ (ยี) พี่ชายของพระยาจุฬาราชมนตรี (แก้ว) ได้เข้ารับราชการตั้งแต่สมัยพระเจ้าบรมโกศ ในตำแหน่ง “หลวงศรียศ” ในกรมท่าขวาและได้รับเลื่อนเป็นพระยาจุฬาราชมนตรีเมื่ออาของท่านคือพระยาจุฬาราชมนตรี (แก้ว) ได้ถึงแก่กรรมลง ไม่มีหลักฐานปรากฎว่าท่านพระยาจุฬาราชมนตรี (สน) เสียชีวิตเมื่อใด
๔. พระยาจุฬาราชมนตรี (เชน)
ท่านจุฬาราชมนตรีคนที่ ๔ แห่งกรุงศรีอยุธยา คือพระยาจุฬาราชมนตรี (เชน) เป็นบุตรเจ้าพระยาเพชรพิชัย (ใจ) ซึ่งเป็นเชื้อสายของท่าน เฉค อะหมัด ตรงกับสมัยแผ่นดินของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
ท่านจุฬาราชมนตรี (เชน) นี้ได้ว่าการทั้งกรมท่ากลางและกองอาสาจาม ได้รับพระราชทานเกียรติยศเสมอเจ้าพระยาพระคลัง แต่มิได้ตั้งให้เป็นเจ้าพระยาเท่านั้น
พระยาจุฬาราชมนตรี (เชน) มีบุตรกับคุณหญิงก้อนทองคนหนึ่งชื่อ “ก้อนแก้ว” และได้สืบตำแหน่งจุฬาราชมนตรีต่อจากท่านในเวลาถัดมา ซึ่งตรงกับสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
พระยาจุฬาราชมนตรี (เชน) คนนี้ นับเป็นตำแหน่งสุดท้ายของกรุงศรีอยุธยา และในสมัยกรุงศรีอยุธยาจึงมีจุฬาราชมนตรีเพียง ๔ ท่านเท่านั้น
๕. พระยาจุฬาราชมนตรี (ก้อนแก้ว)
พระยาจุฬาราชมนตรี (ก้อนแก้ว) มีชื่อทางศาสนาอิสลามว่า “มิระชาโมฮัมหมัดมะอ์ซูม” เป็นบุตรของพระยาวิชิตณรงค์ (เชน) จุฬาราชมนตรีกับคุณหญิงทองก้อน ท่านรับราชการมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระที่นั่งสุมิยาสน์อมรินทร์ โดยถวายตัวเป็นมหาเล็ก และเมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งสุดท้าย พ.ศ. ๒๓๑๐ ท่านได้หลบหนีข้าศึกมาได้และถวายตัวรับราชการในสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเป็น “หลวงศรีนวรัตน์”
ครั้นต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็น “พระยาจุฬาราชมนตรี” เป็นคนที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และนับเป็นจุฬาราชมนตรีลำดับที่ ๕ แห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานที่ดินสร้าง “กุฎีเจ้าเซ็น” ขึ้นที่ข้างพระราชวังเดิม เรียกว่า “กุฎีหลวง” ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
พระยาจุฬาราชมนตรี (ก้อนแก้ว) ท่านถึงแก่อสัญกรรมเมื่ออายุ ๘๒ ปี โดยศพของท่านฝังไว้ ณ มัสยิดต้นสน (กุฎีใหญ่) ปากคลองบางกอกใหญ่ หลังพระราชวังเดิม นับได้ว่าท่านเป็นจุฬาราชมนตรีคนที่ ๕ แห่งราชอาณาจักรไทย
๖. พระยาจุฬาราชมนตรี (อากายี)
พระยาจุฬาราชมนตรี (อากายี) เป็นบุตรของพระยาจุฬาราชมนตรี (เชน) และเป็นน้องชายของพระยาจุฬาราชมนตรี (ก้อนแก้ว) ท่านอากาหยี่ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้พระยาจุฬาราชมนตรีคนที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ต่อจากพระยาจุฬาราชมนตรี (ก้อนแก้ว) ผู้เป็นพี่ชาย
พระยาจุฬาราชมนตรี (อากาหยี่) ถึงแก่อสัญกรรมในแผ่นดินของพระบาทสมเด็จพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีบุตรธิดารวมทั้งหมด ๑๕ คน ท่านอากาหยี่ นับเป็นจุฬาราชมนตรี อันดับที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และเป็นอันดับ ๖ แห่งราชอาณาจักรไทย
๗. พระยาจุฬาราชมนตรี (เถื่อน)
ท่านพระยาจุฬาราชมนตรี (เถื่อน) เป็นบุตรของพระยาจุฬาราชมนตรี (ก้อนแก้ว) ท่านเป็นทั้งนักการทหาร นักการทูต และนักการศาสนา ท่านผู้นี้คือ ผู้สืบตำแหน่งจุฬาราชมนตรีคนที่ ๓ ของกรุงรัตนโกสินทร์
ท่านจุฬาราชมนตรี (เถื่อน) มีชื่อว่า “อามิรระชามุฮัมมัดการีม” ท่านสมรสกับคุณหญิงนก มีบุตรธิดา ๔ คน ท่านจุฬาราชมนตรี (เถื่อน) รับราชการต่อมาจนถึงปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อถึงแก่อนิจกรรม ศพของท่านฝังไว้ ณ มัสยิดต้นสน (กุฎีใหญ่) ปากคลองบางหลวง เคียงข้างหลุมฝังศพของท่านจุฬาราชมนตรี (ก้อนแก้ว) บิดาของท่าน
๘. พระยาจุฬาราชมนตรี (นาม)
พระยาจุฬาราชมนตรี (นาม) เป็นจุฬาราชมนตรี คนที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และเป็นคนที่ ๘ แห่งราชอาณาจักรไทย มีชื่ออิสลามว่า “มิรซามุฮัมมัดตะกี” เป็นบุตรของพระยาจุฬาราชมนตรี (เถื่อน) กับท่านคุณหญิงนก
ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จเพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระราชเศรษฐี และต่อมาอี ๒ ปี ก็ได้เลื่อนเป็นพระยาจุฬาราชมนตรี แต่ยังมิได้ว่าที่จุฬาราชมนตรีเพราะบิดายังมีชีวิตอยู่ และยังดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีอยู่ด้วย ต่อมาบิดาถึงแก่อนิจกรรมแล้ว จึงได้เลื่อนเป็นพระยาจุฬาราชมนตรี คนที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โปรดเกล้าฯ ให้ว่าการคลังวิเศษในส่วนราชการต่างประเทศในกรมท่าหลวง
ท่านจุฬาราชมนตรี (นาม) ถึงแก่อนิจกรรมเมื่ออายุได้ ๗๔ ปี ในราวกลางรัชสมัยพระบาทสมเดํ็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ศพของท่านฝังอยู่ที่มัสยิดต้นสน (กุฎีใหญ่) ปากคลองบางกอกใหญ่
๙. พระยาจุฬาราชมนตรี (น้อย)
พระยาจุฬาราชมนตรี (น้อย) ชื่ออิสลามว่า “มูฮำหมัดบาเกร” เป็นบุตรพระยาจุฬาราชมนตรี (อากาหยี่) กับคุณหญิงสะ รับราชการในกรมท่าขวา ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชการที่ ๔ โดยได้รับการโปรดเกล้าฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “หลวงศรีนวรัตน์” ครั้นต่อมาเมื่อพระยาจุฬาราชมนตรี (นาม) ถึงอสัญกรรมแล้วโปรดเกล้าฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาจุฬาราชมนตรี เจ้ากรมท่าขวา นับเป็นจุฬาราชมนตรีลำดับที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสิน และเป็นลำดับที่ ๙ แห่งราชอาณาจักรไทย
๑๐. พระยาจุฬาราชมนตรี (สิน)
พระยาจุฬาราชมนตรี (สิน) มีชื่ออิสลามว่า “มิรชากุลามฮูเซ็น” เป็นบุตรของพระยาจุฬาราชมนตรี (นาม) และคุณหญิงกลิ่น ท่านเกิดในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พออายุได้ ๑๘ ปี ก็ได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็ก มีบรรดาศักดิ์เป็นนายฉลองไนยนารถ มหาดเล็กเวรศักดิ์ ต่อมาในรัชสมัยพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นหลวงราชเศรษฐี และในระยะหลังท่านได้ศึกษาวิชากฎหมายเพิ่มเติมด้วย จึงมีโอกาสได้รับราชการในกระทรวงยุติธรรมและได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น “พระราชเศรษฐี” เมื่อท่านมีอายุเพียง ๓๐ ปีเท่านั้น
ต่อมาเมื่อได้มีการปรับปรุงระเบียบการบริหารแผ่นดินเป็น กระทรวง ทบวง กรม ตามแบบอย่างอารยประเทศ (รัชการที่ ๕) และมีการตั้งศาลสถิตยุติธรรม พระราชเศรษฐี (สิน) ก็ได้เลื่อนเป็นพระยาจุฬาราชมนตรี และได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นผู้พิพากษาศาลดคีต่าง ๆ ในกระทรวงยุติธรรม และท่านได้ว่าที่จุฬาราชมนตรี เมื่อบิดา (พระยาจุฬาราชมนตรีนาม) ได้ถึงแก่อสัญกรรม ในสมัยสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระยาจุฬาราชมนตรี (สิน) ถึงแก่อนิจกรรม วันที่ ๑๐ มิถุนายน ร.ศ.๑๒๙ (พ.ศ.๒๔๕๓) ในวันที่ ๑๑ มิถุนายน ได้นำศพไปฝังที่กุฎีข้างวัดหงสาราม รวมอายุได้ ๖๕ ปี (ณ มัสยิดต้นสน (กุฎีใหญ่) ปากคลองบางหลวง) ท่านจุฬาราชมนตรี (สิน) นับเป็นจุฬาราชมนตรี ลำดับที่ ๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และเป็นลำดับที่ ๑๐ แห่งราชอาณาจักรไทย
พระยาจุฬาราชมนตรี (สิน)
๑๑.พระยาจุฬาราชมนตรี (สัน)
พระยาจุฬาราชมนตรี (สัน) เป็นบุตรพระยาจุฬาราชมนตรี (สิน) กับคุณหญิงแพ ท่านสันเกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๑ เมื่อครั้งเยาวัยได้ไปศึกษาอบรมระเบียบงานราชการกับสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วงบุญนาค) หรือที่ชาวมุสลิมสี่แยกฝั่งธนบุรีเรียกท่านว่า “ดะโต๊ะ สมเด็จ” (เจ้าคุณสมเด็จ) นั่นเอง
ซึ่งต่อมาท่านสันได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้เป็น “หลวงราชเศรษฐี” สังกัดกรมท่าขวากระทรวงการต่างประเทศ ครั้นเมื่อกระทรวงยุติธรรมได้ตั้งศาลยุติธรรมขึ้น หลวงราชเศรษฐีจึงได้ย้ายมาสังกัดกระทรวงยุติธรรม ตำแหน่งพนักงานดูเงิน (ฝ่ายการเงิน) แล้วเลื่อนขึ้นเป็นจ่าศาลต่างประเทศ
เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงสวรรคต เมื่อ ๒๓ ตุลาคม ๒๔๕๓ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ เถลิงถวัลยราชสมบัติ อีก ๒ ปีต่อมา พระราชเศรษฐี (สัน) ได้รับพระราชกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นพระยาจุฬาราชมนตรี (สัน) คนที่ ๗ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
พระยาจุฬาราชมนตรี (สัน) ได้ขอพระราชทานนามสกุล “อหะหมัดจุฬา” จากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ ๕ กรกฎาคม ๒๔๕๖ และได้รับพระราชทานเมื่อ ๒๗ กรกฎาคม ๒๗ กรกฎาคม ๒๔๕๖ อันเป็นนามสกุลสำหรับผู้สืบสายโลหิตมาจาก เฉค อะหมัด ทางพระยาจุฬาราชมนนตรี (ก้อนแก้ว) และนับเป็นสายสกุลเดียวกับ “บุนนาค” อีกด้วย
พระยาจุฬาราชมนตรี (สัน) ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันศุกร์ที่ ๒๒ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๖ อายุได้ ๕๗ ปี ศพของท่านถูกฝังไว้ที่สุสานมัสยิดต้นสนปากคลองบางกอกใหญ่
พระยาจุฬาราชมนตรี (สัน)
๑๒. พระจุฬาราชมนตรี (เกษม อะหมัดจุฬา)
เป็นจุฬาราชมนตรี คนที่ ๘ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์และเป็นคนที่ ๑๒ แห่งราชอาณาจักรไทย มีชื่อทางศาสนาอิสลามว่า “มูฮัมหมัดระชา” เป็นบุตรคนที่ ๕ ของพระยาจุฬาราชมนตรี (สิน) ซึ่งเกิดด้วยคุณแดงและเป็นน้องของพระจุฬาราชมนตรี (สัน) แต่ต่างมารดากัน
ท่านเจ้าคุณบิดาได้นำถวายตัวเป็นมหาดเล็กวิเศษในปลายแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าให้สังกัดกรมท่าขวา กระทรวงการต่างประเทศ
ครั้นต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้ย้ายมารับราชการอยู่กระทรวงยุติธรรมในตำแหน่งรองเจ้ากรมกองแสตมป์ เป็นหลวงศรีเนาวรัตน์ (เกษม) แล้วเป็นรองอำมาตย์เอก และเมื่อพระยาจุฬาราชมนตรี (สัน) ถึงแก่อสัญกรรมจึงได้เลื่อนเป็นเจ้ากองแสตมป์ กระทรวงยุติธรรม และได้รับบรรดาศักดิ์เป็นพระจุฬาราชมนตรีว่าที่จุฬาราชมนตรีอีกตำแหน่งหนึ่งด้วย
พระจุฬาราชมนตรี (เกษม อะหมัดจุฬา) ได้ดำรงตำแหน่งอยู่เพียง ๓ ปีเศษก็ได้ถึงแก่อสัญกรรมลงเมื่อ พ.ศ.๒๔๖๙ อายุเพียง ๓๗ ปี ศพของท่านพระจุฬาราชมนตรี (เกษม) ได้ฝังอยู่ ณ มัสยิดต้นสน (กุฎีใหญ่) ปากคลองบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร
พระจุฬาราชมนตรี (เกษม อะหมัดจุฬา)
๑๓.พระจุฬาราชมนตรี (สอน อะหมัดจุฬา)
เป็นจุฬาราชมนตรีคนที่ ๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์และเป็นคนที่ ๑๓ แห่งราชอาณาจักรไทย พระจุฬาราชมนตรี (สอน อหะหมัดจุฬา) เป็นบุตรของพระยาจุฬาราชมนตรี (สัน) กับคุณหญิงถนอม ได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ได้รับราชการและโปรดเกล้าให้เป็น “หลวงราชเศรษฐี” รับราชการในกระทรวงมหาดไทย ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ได้เลื่อนเป็น “พระจุฬาราชมนตรี สอน อะหมัดจุฬา”
พระจุฬาราชมนตรี (สอน อหะหมัดจุฬา) นับเป็นจุฬาราชมนตรีคนสุดท้ายในสายสกุลท่านเฉกอหะหมัด (เจ้าพระยาบวรราชนายก จางวางกรมาหาดไทย ในแผ่นดินพระเจ้าปราสาททอง) บุคคลในสายสกุลนี้ดำรงตำแหน่งพระยาจุฬาราชมนตรีสืบเนื่องกันมาถึง ๑๓ ท่านโดยไม่ขาดสาย นับแต่รัชสมัยพระเจ้าทรงธรรมแห่งกรุงศรีอยุทธยา (ท่านเฉกอะหมัดได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นพระยาเฉกอะหมัดรัตนราชเศรษฐี เจ้ากรมท่าขวาที่จุฬาราชมนตรีในรัชสมัยพระเจ้าทรงะรรม) จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว นับเป็นเวลาถึง ๓๓๗ ปี (นับตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๑๔๕ อันเป็นปีที่ท่านเฉกอะหมัดกับท่านมหะหมัดสอิด ได้เข้ามายังกรุงศรีอยุธยา จนถึงปีที่ท่านพระจุฬาราชมนตรี (สอน อะหมัดจุฬา) ได้ออกจากบรรดาศักดิ์ ในปี พ.ศ. ๒๔๘๒)
พระจุฬาราชมนตรี (สอน อะหมัดจุฬา) ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๙ หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย ประมาณ ๔ ปี ศพของท่านถูกฝัง ณ สุสานมัสยิดต้นสน (กุฎีใหญ่)
พระจุฬาราชมนตรี (สอน อะหมัดจุฬา)
๑๔. จุฬาราชมนตรี แช่ม พรหมยงค์ (ฮัจยีซัมซุดดิน บิน มุสตาฟา)
นับตั้งแต่การสิ้นสุดท่านพระจุฬาราชมนตรี (สอน) ตำแหน่งจุฬาราชมนตรีก็ร้างราไปนานร่วม ๑๐ ปี ไม่มีการสืบทอดตำแหน่งดังกล่าว แต่ครั้นต่อมาในสมัยประชาธิปไตยยุคแรก และเป็นช่วงการเปลี่ยนแปลงการปกครองบ้านเมืองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๘ ได้มีการผลักดัน ตราพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลามขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอนันทมหิดล ซึ่งมี ฯพณฯ นายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรีตามพระราชกฤษฎีกานี้ กำหนดให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงแต่งตั้งจุฬาราชมนตรีขึ้นเพื่อเป็นที่ปรึกษาของพระมหากษัตริย์ เกี่ยวกับกิจการศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลาม ได้กำหนดให้มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยขึ้น คณะหนึ่งเพื่อเป็นคณะผู้ควบคุมการบริหารกิจการศาสนาอิสลามแห่งประเทศไทยและถ้าจังหวัดใดมีประชากรมุสลิมมากพอสมควรก็กำหนดให้กระทรวงมหาดไทย แต่งตั้งคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดขึ้น ให้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดมีอำนาจในการแต่งตั้งอิหม่าม คอเต็บ บิหลั่น และกรรมการมัสยิดได้ และให้อำนาจหน้าที่ในการควบคุมดูแลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการมัสยิดและกรรมการมัสยิดในเขตจังหวัดของตน ต่อมาเมื่อ พ.ศ.๒๔๙๑ ก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงอำนาจหน้าที่ของจุฬาราชมนตรีให้เป็นที่ปรึกษาของกรมการศาสนากระทรวงศึกษาธิการ ในกิจการเกี่ยวกับศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลามเท่านั้น
จุฬาราชมนตรี คนแรกที่ได้รับการแต่งตั้งตามพระราชกฤษฏีกานี้ คือ นายแช่ม พรหมยงค์ ซึ่งขณะนั้นท่านดำรงตำแหน่งข้าราชการระดับหัวหน้ากอง สังกัดกรมโฆษณาการ (กรมประชาสัมพันธ์ในปัจจุบัน) โดยรัฐบาลได้กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ นายแช่ม พรหมยงค์ หรือชื่อตามศาสนาอิสลามว่า “ซำซุดดิน บิน มุสตอฟา” เป็นจุฬาราชมนตรี ตามข้อกำหนดในพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว
จุฬาราชมนตรีแช่ม พรหมยงค์ เป็นชาวจังหวัดสมุทรปราการ เป็นบุตรท่านอาจารย์มุสตอฟา พรหมยงค์ ซี่งเป็นบุคคลที่มีความรู้ด้านศาสนาอิสลาม และยังเป็นอาจารย์วิชาการทางศาสนาอิสลามอีกด้วย
ท่านได้ดำรงตำแหน่งเพียง ๒ ปี เท่านั้น ท่านก็ต้องเดินทางออกนอกประเทศด้วยเหตุผลทางการเมือง แต่ในช่วงเวลาที่ท่านได้ดำรงตำแหน่งอยู่นั้น ท่านก็ได้พยายามกำหนดระเบียบแบบแผนการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการบริหารกิจการศาสนาอิสลามไว้เป็นบรรทัดฐานและยังคงถือปฏิบัติมาจนถึงทุกวันนี้ ต่อมาภายหลังท่านได้เดินทางกลับเข้ามาอยู่ในประเทศไทยและพำนักอยู่กับครอบครัวของท่านอยู่ที่บ้านปากลัด ท่านมีอายุยืนยาวกว่า ๙๐ ปี และท่านได้ถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๔ อายุประมาณ ๙๒ ปี นับได้ว่า “นายแช่ม พรหมยงค์” เป็นจุฬาราชมนตรีคนที่ ๑๐ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และเป็นจุฬาราชมนตรีคนที่ ๑๔ แห่งราชอาณาจักรไทย
จุฬาราชมนตรี แช่ม พรหมยงค์ (ฮัจยีซัมซุดดิน บิน มุสตาฟา)
๑๕.จุฬาราชมนตรี ต่วน สุวรรณศาสตร์
หลังจากท่านจุฬาราชมนตรี แช่ม พรหมยงค์ ได้ลาออกจากตำแหน่งจุฬาราชมนตรี และเดินทางไปพำนักอยู่ต่างประเทศแล้ว ราวปี ๒๔๙๐ รัฐบาลขณะนั้นมี จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยด้วย ได้เชิญประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทุกจังหวัดมาประชุมเพื่อเสนอตัวบุคคล ที่ควรจะได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นจุฬาราชมนตรีคนต่อไป
ในที่สุด ท่านอาจารย์ต่วน สุวรรณศาสน์ ซึ่งขณะนั้นเป็นอาจารย์สอนวิชาการทางศาสนา โรงเรียนอันยูมันอิสลาม ได้รับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีคนต่อไป ขณะที่มีอายุประมาณ ๖๐ ปี จุฬาราชมนตรี ต่วน สุวรรณศาสตร์ มีชื่อทางอิสลามว่า “อิสมาแอล ยะห์ยาวี” ท่านได้รับเลือกตั้งด้วยเสียงข้างมากของบรรดาประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ในขณะนั้นซึ่งมีอยู่ ๒๔ จังหวัด และท่านอาจารย์ต่วน สุวรรณศาสตร์ ท่านก็ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดพระนครอยู่ด้วย
จุฬาราชมนตรี ต่วน สุวรรณศาสตร์ เป็นชาวกรุงเทพมหานคร เกิดเมื่อวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ.๒๔๓๒ ท่านศึกษาวิชาการทางศาสนาจากประเทศซาอุดิอาระเบีย ท่านได้รับพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๙๑ นับเป็นจุฬาราชมนตรีคนที่ ๑๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และคนที่ ๑๕ แห่งราชอาณาจักรไทย
ผลงานสำคัญของท่านจุฬาราชมนตรี ต่วน สุวรรณศาสตร์ อีกประการหนึ่งก็คือท่านได้แปลและจัดพิมพ์อัลกุอานไว้ได้ครบถ้วนสมบูรณ์ และได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ได้พระราชทานงบประมาณในการจัดพิมพ์เป็นรูปเล่มได้เรียบร้อย และพระองค์ยังได้นำพระคัมภีร์อัลกุรอานฉบับแปลนี้ไปพระราชทานแก่พสกนิกรในเขต ๔ จังหวัดภาคใต้ด้วยพระองค์เองอีกด้วย
ท่านจุฬาราชมนตรี ต่วน สุวรรณศาสตร์ ได้ดำรงตำแหน่งอยู่ประมาณ ๓๓ ปีเศษ ท่านได้ถึงแก่อสัญกรรม เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๔ ศิริรวมอายุได้ ๙๓ ปี เศษ อยู่ในตำแหน่งประมาณ ๓๓ ปีเศษ
จุฬาราชมนตรี ต่วน สุวรรณศาสตร์
๑๖. จุฬาราชมนตรี ประเสริฐ มะหะหมัด (อะหมัด บินมะหะหมัด)
หลังจากสิ้นจุฬาราชมนตรี ต่วน สุวรรณศาสน์ เมื่อ ปี พ.ศ. ๒๕๒๔ รัฐบาลได้เชิญบรรดาประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัด มาประชุมที่กระทรวงมหาดไทยเพื่อคัดเลือกตัวบุคคลที่จะกราบบังคมทูลให้ทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นจุฬาราชมนตรีคนต่อไป ผลการคัดเลือกปรากฎว่า นายประเสริฐ มะหะหมัด ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี โดยได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นจุฬาราชมนตรี เมื่อวันที่ ๘ กันยายน ๒๕๒๔ นับเป็นการดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีคนที่ ๑๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และเป็นคนที่ ๑๖ แห่งราชอาณาจักรไทย
นายประเสริฐ มะหะหมัด เป็นคนกรุงเทพมหานคร เกิดเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๐ สำเร็จการศึกษารด้านศาสนาจากเมืองมักกะฮ์ ประเทศซาอุดิอาระเบีย ก่อนที่จะได้รับตำแหน่งจุฬาราชมนตรีเป็นอาจารย์สอนวิชาการทางศาสนา และดำรงตำแหน่งกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานคร นายประเสริฐ มะหะหมัด นับเป็นจุฬาราชมนตรีที่มีบทบาทต่อกิจการศาสนาอิสลามมาก และนับเป็นยุคของการเปลี่ยนแปลงการบริหารกิจการศาสนาอิสลามหลายด้าน และที่ชัดเจนที่สุดคือเริ่มมีการร่างพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลามฉบับใหม่ ซึ่งถูกพลักดันโดย นายเด่น โต๊ะมีนา ส.ส.จังหวัดปัตตานี ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในที่สุดก็ออก พ.ร.บ.ฉบับใหม่ว่าด้วยการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม โดยพระราชบัญญัติฉบับใหม่นั้น เรียกว่าพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. ๒๕๔๐ ลงวันที่ ๑๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๐
นอกจากนี้ ท่านจุฬาราชมนตรี ประเสริฐมะหะหมัดได้เล็งเห็นว่าในอดีตที่ผ่านมา สำนักงานของคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย เปลี่ยนย้านสถานที่ไปเรื่อย ๆ ตามผู้นำสูงสุดคือท่านจุฬาราชมนตรี
ในปี พ.ศ. ๒๕๓๓ ท่านจุฬาราชมนตรี (ประเสริฐ มะหะหมัด) ได้ปรารภต่อรัฐบาลขณะนั้นเพื่อจัดตั้งสถานที่เพื่อเป็นศูนย์รวมในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ทางศาสนาอิสลาม กระทรวงมหาดไทยโดยกรมการปกครอง ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีได้จัดทำโครงการก่อสร้าง “ศูนย์บริหารกิจการศาสนาอิสลามแห่งชาติ เฉลิมพระเกียรติ” ตั้งอยู่ในพื้นที่คลองเก้า เขตหนองจอก กรุงเทพฯ ให้เป็นอาคารและกำหนดการบริหารศูนย์ฯ ให้เหมาะสมครอบคลุมกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการบริหารกิจการศาสนาอิสลาม ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักจุฬาราชมนตรี สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานคร ในปัจจุบัน
ท่านจุฬาราชมนตรี (ประเสริฐ มะหะหมัด) อยู่ในตำแหน่งตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๔ ท่านเสียชีวิตเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๐ รวมการดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีนาน ๑๖ ปี ซึ่งได้สร้างผลงานและคุณูปการเกี่ยวกับการบริหารกิจการศาสนาอิสลามหลายด้านและวางรากฐากการบริหารจนถึงขณะนี้
จุฬาราชมนตรี ประเสริฐ มะหะหมัด
๑๗. จุฬาราชมนตรี สวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์
ท่านจุฬาราชมนตรี (สวาสดิ์ สุมายศักดิ์) ได้รับการแต่งตั้งในตำแหน่งจุฬาราชมนตรี สืบต่อจาก นายประเสริฐ มะหะหมัด ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เมื่อว้ันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๔๐ ด้วยวัยขณะนั้น ๘๒ ปี โดยได้ผ่านกระบวนการคัดเลือกจากคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั่วประเทศ และนับเป็นการเลือกตั้งตามพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ.๒๕๔๐ เป็นคนแรก
จุฬาราชมนตรี สวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์ ชื่อเป็นภาษาอาหรับว่า “อะหมัด มะมูด ซัรกอวี” เกิดวันที่ ๒๗ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๙ มีภูมิลำเนาอยู่ที่คลองสิบหก ต.ดอนฉิมพลี อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา (เมื่ออายุ ๘ ขวบได้ย้ายภูมิลำเนามาอยู่ที่ เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร) บิดาชื่อ ฮัจยีมะมูด สุมาลยศักดิ์ มารดาชื่อ นางเราะห์มะห์ สุมาลยศักดิ์
เมื่อเรียนจบสายสามัญได้เรียนต่อทางด้านศาสนากับอาจารย์ที่มีชื่อเสียงหลายท่านรวมทั้งอาจารย์ต่วน สุวรรณศาสน์และอาจารย์มุสตาฟา พรหมยงค์ และท่านได้เดินทางไปศึกษาด้านศาสนาในต่างประเทศ ณ นครมักกะฮ์ ประเทศซาอุดิอาระเบีย
ในด้านสังคมได้เป็นรองประธานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย กรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย กรรมการกลางอิสลามประจำจังหวัดพระนคร เป็นหัวหน้าคณะธรรมทูตอิสลามของกระทรวงศึกษาธิการ เป็นอาจารย์สอนที่โรงเรียนอิสลามวิทยาลัยแห่งประเทศไทย นอกจากนั้น ยังเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ๒ สมัย และสมาชิกสภาเทศบาลกรุงเทพฯ ๒ สมัยอีกด้วย
ท่านจุฬาราชมนตรี (สวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์) ถึงแก่อนิจกรรม ด้วยโรคชรา ที่โรงพยาบาลกรุงเทพ เมื่อเวลา ๑๓.๓๐ น. วันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๕๓ ด้วยวัย ๙๔ ปี โดยมีพิธีฝังศพวันในวันรุ่งขึ้น (๒๕ มีนาคม) ที่สุสานมัสยิดอัลฮุสนา บ้านเจียรดับ เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร
จุฬาราชมนตรี สวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์
๑๘. จุฬาราชมนตรี อาศิส พิทักษ์คุมพล
ท่านจุฬาราชมนตรี (อาศิส พิทักษ์คุมพล) เกิดเมื่อวันที่ ๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๐ ที่ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ท่านเป็นบุตรของนายมะแอ (ฮัจญีอิสมาแอล) กับ นางน๊ะ (อามีนะห์) พิทักษ์คุมพล สมรสกับนางรอมิอ๊ะ พิทักษ์คุมพล มีบุตรธิดา ๔ คน
ท่านจุฬาราชมนตรี (อาศิส พิทักษ์คุมพล) ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี สืบต่อจาก นายสวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์ โดยเมื่อวันที่ ๑๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ ได้รับลงคะแนนเสียงเป็นอันดับ ๑ จากกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั่วประเทศให้ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี ตามพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. ๒๕๔๐ ซึ่งนับเป็นคนที่ ๒ ต่อจากนายสวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์ และได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นจุฬาราชมนตรีคนที่ ๑๘ เมื่อวันที่ ๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๓
จุฬาราชมนตรี อาศิส พิทักษ์คุมพล
ที่มา https://www.skthai.org/th/pages/6794-จุฬาราชมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทย