การขายบิลค่าไฟฟ้าแลกเงินสดตามหลักกการอิสลาม
สมีธ อีซอ…เรียบเรียง
ช่วงเดือนเมษายน พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมา มีการรายงานข่าวผ่านช่องโทรทัศน์ต่าง ๆ ในประเด็น “นำบิลค่าไฟฟ้าไปขายแลกเงินสด” แนวคิดนี้เกิดขึ้นมาจากคนที่เป็นสมาชิกบริษัทให้เงินสินเชื่อต้องการเงินสดมาใช้ทันที (เพราะเดิมทีสินเชื่อให้ซื้อสินค้าและบริการเท่านั้น) จึงนำบิลค่าไฟฟ้าของผู้อื่นไปจ่ายแทนผ่านบริษัทสินเชื่อ เมื่อเจ้าของบิลทราบว่าชำระค่าไฟฟ้าแล้ว ก็จะให้เงินสดก็ผู้ชำระบิลนั้นทันที แต่เป็นเงินจำนวนที่น้อยกว่า ทำให้ผู้ชำระบิลแทนมีหนี้ในอนาคตที่มากกว่าเงินที่ได้รับมาหากแต่ว่าเป็นลักษณะผ่อนรายเดือน ยกตัวอย่างได้ดังต่อไปนี้
เจ้าของบิลมีต้องจ่ายค่าไฟฟ้า และประกาศในโซเชียลมีเดียว่า “ค่าไฟฟ้า 2,000 บาท ให้ 1,600 บาท” นั่นหมายถึง เมื่อผู้ที่เป็นสมาชิกของผู้ให้บริการสินเชื่อ (ผู้ชำระบิลแทน) มาเห็นจึงได้ทำการตกลงกัน โดยที่ผู้ชำระบิลแทนนั้นนำบิลค่าไฟฟ้าไปชำระ โดยเป็นลักษณะของการใช้สินเชื่อและผ่อนชำระ นั่นหมายถึง ผู้ชำระบิลแทนคนนั้นมีหนี้สิน (ค่าไฟฟ้า) ที่ต้องผ่อนชำระตามระยเวลาที่กำหนด 3 เดือน และเมื่อค่าไฟฟ้าได้ชำระในลักษณะดังกล่าว เจ้าของบิลจะรู้ทันทีเมื่อยอดค่าไฟฟ้านั้นถูกตัดบิลไปแล้ว เจ้าของบิลจึงทำการให้เงินสด 1,600 บาทกับผู้ชำระบิลแทนนั้นทันที ทำให้ผู้ชำระบิลแทนนั้นมีเงินสด 1,600 บาท ที่จะนำไปใช้หมุนเวียนได้ทันที หากแต่ว่าจะต้องมีหนี้ที่ผู้ชำระบิลแทนต้องชำระในอนาคตจำนวน 2,000 บาท ตามระยะเวลาที่กำหนด บางครั้งมีดอกเบี้ยในสินเชื่อ บางบริษัทไม่กำหนดดอกเบี้ยในสินเชื่อ 0%
พิจารณาข้อตัดสินตามหลักการอิสลาม
1. เจ้าของบิลมอบบิลค่าไฟ้ฟ้าหรือสิทธิในการชำระให้กับผู้ชำระบิล
ถึงแม้รูปแบบธุรกรรมในปัจจุบันจะใช้คำว่า “การขายบิลแลกเงินสด” หากแต่ว่าไม่ได้มีการซื้อขายเกิดขึ้นจริง ๆ ระหว่างทั้ง 2 ฝ่าย เพราะผู้ชำระบิลยังไม่ได้ให้อะไรเพื่อแลกเปลี่ยน หากแต่นำบิลไปชำระแทน
2. ผู้ชำระบิลแทนนำบิลไปขอสินเชื่อกับผู้ให้บริการสินเชื่อ
ผู้ให้บริการสินให้สินเชื่อโดยเป็นการชำระทันทีกับการไฟ้ฟ้า
3. ผู้ให้บริการสินเชื่อชำระเงินสดทันทีกับการไฟฟ้า
หลังจากชำระแล้วทำให้ผู้ชำระบิลแทนเกิดหนี้กับผู้ให้บริการสินเชื่อในอนาคตผ่อนตามระยะเวลาที่กำหนด พร้อมเพิ่มดอกเบี้ย (กรณีมีดอกเบี้ย)
4. ผู้ชำระบิลแทนมีหนี้กับผู้ให้บริการสินเชื่อทันที 2,000 บาท
เมื่อผู้ให้บริการสินเชื่อชำระบิลค่าไฟฟ้าแล้ว จึงทำให้ผู้ชำระบิลแทนเกิดมีหนี้สินทันทีกับผู้ให้บริการสินเชื่อ
5. เป็นหนี้แทนเจ้าของบิล 2,000 บาท
เมื่อมีการชำระค่าไฟฟ้าเกิดขึ้นแล้ว ผู้ชำระบิลแทนเป็นหนี้กับผู้ให้บริการสินเชื่อ และยิ่งไปกว่านั้นก็ถือว่าเป็นหนี้แทนเจ้าของบิลไปด้วย ดังนั้นผู้จ่ายบิลแทนเป็นเจ้าหนี้ของเจ้าของบิล จึงสามารตีความได้ว่าผู้ชำระบิลแทนขายหนี้ส่วนนี้ให้กับเจ้าของบิล
6. เจ้าของบิลจ่ายเงินสด 1,600 บาท กับผู้ชำระบิลแทน
เมื่อมีการชำระค่าไฟฟ้าเกิดขึ้น เจ้าของบิลจึงจ่ายเงินสด 1,600 บาท ให้ผู้ชำระบิลแทนทันที ดังนั้นในธุรกรรมนี้สามารพิจารณาได้ว่าเจ้าของบิลซื้อหนี้ด้วยกับเงินสด 1,600 บาท
เปรียบเทียบกับการขายหนี้ในหลักการอิสลาม
การทำธุรกรรมดังกล่าวระหว่างผู้ชำระบิลแทนกับเจ้าของบิลมีลักษณะคล้ายกับ “การขายหนี้ให้กับผู้อื่นที่ไม่ใช่ลูกหนี้ด้วยกับราคาที่จ่ายทันที (بَيْعُ الدَّيْنِ لِغَيْرِ الْمَدِيْنِ بِثَمَنٍ حَالٍ)” กล่าวคือ สามารถพิจารณาได้ว่าผู้ชำระบิลเป็นหนี้แทนให้เจ้าของบิล เพื่อหวังเงินสด นั่นหมายถึง เมื่อมีการชำระค่าไฟฟ้าเกิดขึ้น ทำให้ผู้ชำระบิลเกิดหนี้ทันที ซึ่งต่อมาทำให้เจ้าของบิลก็จ่ายเงินสด สามารถพิจารณาได้ว่า ผู้ชำระหนี้แทนเอาหนี้ไปขาย โดยเจ้าของบิลซื้อโดยจ่ายเงินสด จึงทำให้รูปแบบมีลักษณะคล้ายกับรูปแบบหนึ่งของการขายหนี้ที่กล่าวไว้เบื้องต้น และอาจมีความแตกต่างกัน “ตัวหนี้” ซึ่งการขายหนี้ที่ยกตัวอย่าง “เป็นหนี้ของเจ้าหนี้ที่จะได้จากลูกหนี้” หากแต่ในรูปแบบธุรกรรมขายบิลค่าไฟฟ้า “เป็นหนี้ของลูกหนี้ที่จะต้องจ่าย”
หลักฐานจากอัซซุนนะฮ์
أَنَّ النَبِىَّ (صَلَّى اللهِ عَلَيْهِ وَسَلَّم) نَهَى عَنْ بَيْعِ الْكَالِئِ بِالْكَالِئِ عَنِ ابْنِ عُمَرَ رَضِيَ اللَّهُ عَنْهُمَا
รายงานจากอิบนุอุมัร ท่านนบี ศอลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม “ห้ามการขายหนี้ด้วยกับหนี้ “
เปรียบเทียบกับรูปแบบการขายหนี้ลดราคา
รูปแบบการขายบิลเพื่อแลกเงินสดมีการขายหนี้ที่ลดลงราคาจากเดิมมาเกี่ยวข้องด้วย โดยที่เจ้าของบิลจ่ายเงินสดเพียง 1,600 บาท แลกกับหนี้ 2,000 บาท ด้วยเหตุนี้จึงสามารถเปรียบเทียบได้กับประเด็น “การขายหนี้ลดราคา” ซึ่งถือว่าเป็นรูปแบบที่ต้องห้ามตามหลักการของอิสลาม
รูปแบบการขายตั๋วเงินลดราคา
จากรูปภาพ เจ้าหนี้ขายหนี้ 100 บาท และได้เงินสดมา 80 บาท ถือว่าเป็นริบา อัล-ฟัฎล์ (แลกเปลี่ยนเงินสกุลเดียวกันจำนวนไม่เท่ากัน) ทำให้ได้เพิ่มส่วนต่าง 20 บาท ซึ่งถือว่าเป็นดอกเบี้ย และสำหรับในส่วนของผู้อื่นได้จ่ายเงินสดไปทันที 80 บาท แต่ยังไม่ได้รับ 100 บาททันที นอกจากจะถือว่าเป็นริบอัล-ฟัฎล์แล้ว ยังถือว่าเป็นริบาอัน-นะซาอ์ ด้วย เนื่องจากยังไม่ได้รับเงิน 100 บาท ทันที
นักวิชาการได้กล่าวว่า การซื้อขายตั๋วลดราคานี้เป็นสิ่งต้องห้าม เพราะมีริบา (ดอกเบี้ย) เกิดขึ้น และยังเป็นสิ่งหนึ่งที่เหมือนกับรูปแบบการขายหนี้ให้กับผู้อื่น (ที่ไม่ใช่ลูกหนี้) ด้วยกับราคาที่จ่ายทันที (بَيْعُ الدَّيْنِ لِغَيْرِ الْمَدِيْنِ بِثَمَنٍ حَالٍ)
พิจารณาข้อตัดสินกรณีผู้ให้บริการสินเชื่อกำหนดดอกเบี้ย
กรณีนี้เป็นที่ชัดเจนว่าธุรกรรมเกี่ยวข้องกับดอกเบี้ยระหว่างผู้จ่ายบิลแทนกับผู้ให้บริการสินเชื่อโดยเป็นลักษณะของริบาอัล-ฟัฎล์ ที่มีการกู้ยืมเงินกันและมีการจ่ายริบาส่วนต่างเพิ่มเติม
หลักฐานจากคัมภีร์อัลกุรอาน
وَأَحَلَّ اللهُ الْبَيْعَ وَحَرَّمَ الرِّبَا (البقرة 275)
“และอัลลอฮ์นั้นทรงอนุมัติการขาย และทรงห้ามการเอาดอกเบี้ย”
(อัล-บะเกาะเราะฮ์ 275)
พิจารณาข้อตัดสินกรณีผู้ให้บริการสินเชื่อกำหนดดอกเบี้ย 0%
การไม่มีดอกเบี้ย ทำให้ขั้นตอนในการให้สินเชื่อไม่ผิดต่อหลักการของอิสลาม แต่ในธุรกรรมอื่น ๆ จำเป็นจะต้องมีการพิจารณาเพิ่มเติม เพราะถ้าพิจารณาถึงเจตนารมณ์และการกระทำที่แท้จริงของเจ้าของบิลและผู้ชำระบิลแทนแล้วพิจารณาได้ว่า ผิดต่อหลักการการของอิสลามในเรื่องขายการขายหนี้ (بَيْعُ الدَّيْنِ) ตลอดจนการแลกเปลี่ยนที่ถือว่าเป็นอัรริบา อัล-ฟัฎล์ ( (اَلرِّبَا الفَضْلคือการแลกเปลี่ยนระหว่างเงินสกุลเดียวที่มีจำนวนไม่เท่ากัน
ซึ่งสามารถพิจารณาจากด้านเจ้าของบิลได้ว่าเป็นการแลกเปลี่ยนเงินสดกับหนี้ ทำให้ได้มาผลประโยชน์ส่วนต่างมา และยังสามารถพิจารณาได้ว่าผู้จ่ายบิลแทนแลกเปลี่ยนหนี้เพื่อให้ได้เงินสดมาใช้ทันทีเช่นเดียวกัน และทำให้เสียผลประโยชน์ในการต้องจ่ายเพิ่มส่วนต่าง ดังนั้น ถึงแม้จะไม่มีดอกเบี้ยในส่วนของสินเชื่อ แต่ถ้าหากพิจารณาส่วนอื่นแล้ว ยังเป็นสิ่งต้องห้ามตามหลักการของอิสลามด้วยเช่นเดียวกัน จำเป็นที่มุสลิมจะต้องไม่เกี่ยวข้องในธุรกรรมดังกล่าว
บทสรุป
แบ่งออกเป็น 2 กรณี กรณีผู้ให้บริการสินเชื่อกำหนดดอกเบี้ย รูปแบบนี้เป็นที่ต้องห้ามอย่างชัดเจนเพราะมีเรื่องของริบา (ดอกเบี้ย) มาเกี่ยวข้อง แต่สำหรับกรณีผู้ให้บริการสินเชื่อไม่เก็บดอกเบี้ยเพิ่ม 0% เมื่อพิจารณาแล้ว ถึงแม้ธุรกรรมระหว่างเจ้าของบิลกับผู้ชำระบิลแทนในช่วงแรก ไม่ได้มีการแลกเปลี่ยนส่วนต่างกันโดยตรง หากแต่เมื่อผ่านขั้นตอนธุรกรรมทั้งหมดแล้ว ทำให้พิจารณาได้ว่า ผู้ชำระบิลแทนเอาหนี้ 2,000 บาท มาขายกับเจ้าของบิล โดยเจ้าของบิลซื้อหนี้โดยการจ่ายเงินสดทันที 1,600 บาท
ซึ่งทำให้เกิดบทสรุป คือ ผู้ชำระบิล ทำให้เกิด (สร้าง) หนี้ 2,000 บาท เพื่อให้ได้เงินสดมา 1,600 บาท ซึ่งทำให้ต้องเสียส่วนต่างเพิ่ม (เสียเพิ่ม 400 บาท) และเจ้าของบิลมีหนี้ 2,000 บาท เพื่อให้ได้เงินสดมา 1,600 บาท ทำให้ได้รับผลประโยชน์ (ไม่เสียส่วนต่างเพิ่ม 400 บาท) ซึ่งเขาข่ายลักษณะของการขายหนี้ด้วยกับการลดราคาหนี้ และมีลักษณะของริบา อัล-ฟัฎล์ (ดอกเบี้ย) มาเกี่ยวข้อง นั่นก็คือ การแลกเปลี่ยนเงินสกุลเดียวกันโดยมีจำนวนไม่เท่ากัน (2,000 กับ 1,600) โดยถือว่าธุรกรรมนี้เป็นสิ่งต้องห้ามตามหลักการของอิสลาม
ขอขอบคุณ Islammore.com
The post การขายบิลค่าไฟฟ้าแลกเงินสดตามหลักกการอิสลาม appeared first on Adam Mideng.