ใครกำลังทำธุรกิจแล้วติดขัดทั้งขายดี และไม่เหลือกำไร หรือขายไม่ได้ จนหมดทุน ผมคิดว่าหัวข้อนี้คงจะมีคำตอบให้
กับ 7 ตัวอย่างที่ทำให้ธุรกิจไม่เหลือกำไร พร้อมกับวิธีแก้ที่ผมให้คำแนะนำกับธุรกิจ พี่น้องที่เข้ามาปรึกษาผมครับ
.
1. ร้านที่ชอบให้เยอะขายถูก
บางครั้งเราก็ใจดีกับลูกค้าช่วงเริ่มต้นให้เยอะ ให้จุกเพื่อให้ลูกค้าติด เพราะรู้สึกว่าร้านนี้คุ้มค่า เช่น ร้านอื่นขาย 60 บาท เราเลยขาย 40 บาท ให้เยอะกว่า เพราะคิดว่า ไม่มีค่าแรง ทำกันเอง ช่วงแรกก็ขายดีมีลูกค้า คิดว่านับเงินมาสิ้นเดือนก็เหลื แต่เอาเข้าจริง เหลือน้อยมาก แถมร่างกายก็เริ่มพัง กำไรก็ไม่เหลือ ทำให้เริ่มคิดว่าจะเอายังไงต่อกับชีวิต เพราะถ้าธุรกิจเริ่มต้นจากการเอาราคานำคุณค่า ก็จะทำให้เราวิ่งวนอยู่กับการขายของถูก เมื่อถึงจุดที่ต้นทุนขึ้นสูง เราก็ขายต่อไม่ได้ เช่น ตอนแซลมอนขึ้นราคา ซูชิตลาดนัดเจ๊งหมด รวมถึงพอปริมาณการขายมากขึ้นออเดอร์ล้น ก็ทำให้เราทำกันเองไม่ไหว ต้องจ้างคน คราวนี้เราก็ไม่มีเงินพอจ้างคน ธุรกิจจึงไม่มีกำไรและไปต่อไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราควรเริ่มต้นที่คุณค่ามากกว่าการขายปริมาณเอามันส์ ถ้าเราไม่ใช่คนทุนหนา เราต้องคิดให้มากกว่าเดิม
2. ต้นทุนขึ้นไม่กล้าปรับราคากลัวลูกค้าหาย
ปัญหาระดับชาติ เป็นกันเยอะมาก แม้ว่าต้นทุนจะขึ้นแต่มีหลายร้าน ที่ยังขายราคาเดิม เพราะตอนนี้ก็ขายไม่ดีอยู่แล้ว ถ้าขึ้นราคาอีก ก็อาจจะขายไม่ได้เลย ใครกำลังเป็นแบบนี้อยู่ ถ้าราคาเดิมแล้วขายไม่ดี ให้กลับมาดูที่สินค้า ว่าน่าสนใจพอหรือไม่ มีจุดขาย จุดเด่น อะไรที่แตกต่างหรือว้าวกว่าคนอื่น ถ้ามีก็อาจจะเป็นที่ปริมาณการขายกับราคา ที่สูงเกินไป เช่น ขายปลาทอดตัวใหญ่มาก ราคา 250 บาท ในตลาดแถวบ้าน ซึ่งราคานี้เจ้าของอาจคิดว่าถูกแล้ว เพราะร้านอื่นๆ ก็ขาย 350-450 บาท แต่เมื่อมาดูทำเลจริง ลูกค้าเขาอาจจะไม่ต้องการ ปลาตัวใหญ่ แต่ต้องการปลาขนาดพอดี ไม่เกิน 100 – 150 บาทต่อชุด ที่ขายไม่ดี ไม่เหลือกำไร ก็เพราะว่า เรายึดติดสินค้าเดิม โดยไม่ยอมดูความต้องการลูกค้าจริง
3. ร้านที่ขายดีแต่ไม่เคยทำบัญชีรายรับรายจ่าย
ข้อผิดพลาดที่คนส่วนใหญ่ทำคือคิดว่าขายได้ดีเดี๋ยวนับเงินมาก็เหลือ เน้นขายเอามันส์ ไม่นับสต๊อก ไม่รู้ปริมาณการขายแต่ละวัน ไม่เคยดูว่ามีค่าใช้จ่ายอะไรที่ไม่ควรจ่าย ช่องโหว่สำคัญคือการปล่อยให้พนักงาน อยากกินอะไรก็กินของในร้านได้เลย ทำอาหารผิดก็ไม่เคยลงโทษหักเงิน นับสต๊อกสั่งของก็ไม่เคยเช็คให้ละเอียด มีต้นทุนแฝงเกิดมากมายเช่นของไม่พอขาย ก็ออกไปซื้อร้านชำมาขาย เสียค่ารถเพิ่ม ยิ่งปล่อยให้คนอื่นบริหารแทนเรา ไว้ใจพนักงานและไม่ตรวจสอบ ทำเท่าไร ขายมากแค่ไหน ก็หมดตัวได้เลย
4. ร้านที่ขายไม่ได้และทำการตลาดไม่เป็น
ไม่มีกำไร ไม่มีลูกค้า และไม่อยากใช้เงิน นั่นคือสาเหตุที่เรากำลังถอยหลังในธุรกิจ ถ้าคุณเป็นแค่พ่อค้าแม่ค้า หาวันชนวัน
ก็ไม่จำเป็นต้องทำการตลาด เพราะสินค้า ขายง่าย ขายไว เน้นทำเลที่ใช่ก็พอ แต่เมื่อเป็นธุรกิจ จำเป็นต้องวางแผนการใช้เงิน เพราะยอดขาย 100% จำเป็นต้องแบ่งเป็นค่าการตลาด 10% ยิ่งขายไม่ได้ยิ่งต้องใช้การตลาด เพราะหากต้องการกำไร แต่ไม่เพิ่มยอดขาย ก็ไม่มีทางที่จะเห็นกำไรเพิ่มขึ้น และถ้าอยากเพิ่มยอดขาย แต่ยังไม่มีลูกค้า ก็เป็นเพราะว่าลูกค้าไม่รู้จัก ไม่สนใจ ไม่เชื่อใจเรา นั่นจึงเป็นสิ่งที่เราต้องทำแผนการตลาด เพื่อนำเงินไปใช้เงินให้ตรงจุดกว่าเดิม
.
5. ร้านที่ขายแค่ราคาเดียว
เหตุผลที่บางร้านไม่มีกำไรเหลือ เพราะไม่มีกลยุทธ์ในการผลักดันประสบการณ์ให้ลูกค้า หากร้านนาย A ขายแต่ข้าวมันไก่ราคาเดียว 50 แต่ร้านนาย B มีการขายข้าวมันไก่ ราคา 50 พิเศษ 60 จัมโบ้ 80 จักพรรดิ 100 และเพิ่มไข่ต้ม 10 บาท พิเศษเครื่องใน 15 บาท มีกากเจียวไก่ 15 บาท ให้ลูกค้าสั่งเพิ่ม แน่นอนว่าร้านนาย B จะได้ยอดขาย และกำไรต่อบิลมากขึ้นทันที อย่าดูถูกประสบการณ์ที่ลูกค้าจะได้รับ เพราะทุกจุดที่เราเข้าใจลูกค้าคือเงินที่เราจะได้เพิ่ม
6. ร้านที่ขายของแบบไม่รู้ต้นทุน
แผลเป็นของธุรกิจเลยคือทำธุรกิจแบบไม่มีสูตรอาหาร ไม่เคยรู้ว่าขายของแต่ละจานราคาเท่าไร แล้วเมนูไหนทำกำไรเยอะ ทำกำไรน้อย บางครั้งเมนูที่เราชอบ หรือเมนูขายดี มักจะทำกำไรได้น้อย เพราะเราให้เยอะ ให้คุ้ม ให้จุใจ หรือให้มากกว่าร้านอื่น จนทำให้สินค้ามีต้นทุนที่สูงกว่าเช่นกัน ซึ่งถ้าเรารู้แบบนี้ เราจะใช้สินค้านี้เป็นตัวดึงดูดลูกค้าเข้าร้าน แต่เราจะหาสินค้าอื่นๆ เมนูอื่นๆที่น่าสนใจ เอารูปมาขึ้นเป็นเมนูแนะนำ เมนูพิเศษ ก็จะทำให้ลูกค้าเข้ามาเปลี่ยนใจสั่งเป็นตัวอื่นแทนกำไรต่อจานของเมนูที่ราคาสูงก็จะเพิ่มขึ้นทันที
7. ร้านที่ทำสินค้าหรืออกแบบร้านเอาใจตัวเอง
หากเราเปิดธุรกิจโดยที่คิดว่าเราชอบ เราก็จะจัดเต็มทุกอย่าง สร้างร้านเว่อวัง วัสดุอย่างดี ของต้องดีทุกอย่าง จนกลายเป็นต้นทุนสูง ราคากระโดด และหวังว่าคนจะเห็นคุณค่า เข้าใจเรา แต่แท้จริงแล้ว เราอาจไม่สำรวจมาก่อนว่าคนจะอินกับสินค้าของเราหรือไม่ หรือเอาเข้าจริง เราต้องหาจุดพอดี ของความต้องการเรา และลูกค้าให้เจอ ถ้ารู้ว่าคนแถวนี้ชอบอะไรชอบกินแบบไหน ใช้จ่ายอยู่ที่ราคาเท่าไร เช่น หม่าล่าตึกแถวที่เปิดขึ้นนั้น ก็ไม่ได้ทำร้านสวยเว่อวัง แต่เน้นความต้องการทั้งสินค้า น้ำซุป เนื้อสัตว์ ครบ ราคาดีก็ดึงให้คนมาต่อคิวเต็มได้ง่ายๆโดยไม่จำเป็นต้องลงทุนเป็น 10 ล้าน ซึ่งไม่รู้ว่าจะทำยังไงให้คืนทุน